วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศิลปะสมัยใหม่ของไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2546 มีข่าวกรอบเล็กๆ รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องการท่องเที่ยว และการจัดอันดับของนิตยสาร Travel and Leisure ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่น่ามาเยือนมากที่สุดในโลก นับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจในฐานะเจ้าของประเทศ แต่ข้อมูลย่อยอีกอย่างที่ใครหลายคนไม่รู้คือ ห้ากิจกรรมที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายต้องไม่พลาดยามแวะเวียนมากรุงเทพฯ หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือการไปเยือนแกเลอรี่ศิลปะ กิจกรรมทางสังคมที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแดนสนธยาสำหรับเจ้าของประเทศอย่างเรา แต่ไม่ใช่กับหนุ่มใหญ่ชาวอเมริกันที่ชื่อ Ernest Lee
Ernest Lee คือชายหนุ่มวัยสี่สิบห้าปีที่หลงใหลในงานศิลปะของตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศิลปะร่วมสมัย และศิลปะสมัยใหม่ของไทย ความชื่นชอบ และการเห็นคุณค่าของงานศิลปะแบบไทยประยุกต์นี่เองที่ผลักดันให้ “H Gallery” ของเขาเติบใหญ่ มีชื่อเสียงจนกลายมาเป็นแกลเลอรี่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดหากมีโอกาสแวะมาเที่ยวที่เมืองไทยตามการจัดอันดับของนิตยสารที่ว่าในเบื้องต้น
“ ผมเลือกมาเอเชียเพราะว่าชอบบรรยากาศ และงานศิลปะที่นี่ กอปรกับผมเองกำลังหาลู่ทางเข้ามาสู่แวดวงศิลปะ คิดจะนำงานส่งออกกลับไปที่อเมริกาและที่อื่น ไปมาหลายที่เหมือนกัน แต่ที่เลือกประเทศไทยเพราะพื้นฐานงานศิลป์ของไทยดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดรูปแบบการนำเสนอ และแรงสนับสนุนที่ดีเท่านั้น ”
หลายคนซึ่งในที่นี้รวมถึงตัวผมเองด้วย เข้าใจมาโดยตลอดว่า การสังวาสกันของงานศิลปะกับกิจกรรมทางธุรกิจนั้นเป็นสองเขตแดนที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันอย่างแน่นแฟ้น คงต้องมีนัยซ่อนเร้นบางประการเคลือบอยู่เป็นแน่ อย่างไรก็ดีการมองโลกจากจุดยืนที่ปราศจากประสบการณ์ตรงนั้นก็ดูจะหยามหมิ่นเจตน์จำนงของคนอื่นมากจนเกินไป
“ งานนี้จริงๆ ก็เป็นเรื่องของธุรกิจ คือการลงทุนเพื่อแสวงหากำไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่านี่คืองานที่ทำไปเพื่อสนองตอบความต้องการทางส่วนตัวเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ ตลาดศิลปะจริงๆ ไม่ได้ใหญ่โต หรือว่าสร้างกำไรมหาศาล หากว่าผมทำเพื่อหวังกอบโกย สู้ผมไปทำงานทางด้าน อสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในตลาดเงินไม่ดีกว่าเหรอ ผมรักงานศิลปะมากแต่ไม่มีพรสรรค์ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ช่วยสนับสนุนงานแต่ละชิ้นของศิลปินให้มีการยอมรับ และประสบความสำเร็จมากขึ้น ”
อย่างไรก็ดี ในช่วงของการเริ่มต้นการทำงานของคุณ Enest นั้นก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ตัวเขาเองคิด เนื่องจากระบบ กลไกในการทำงานของตัวแกเลอรี่เองในเมืองไทยแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับแกเลอรี่ประเทศโลกตะวันตก
“ ในต่างประเทศการทำงานจะมีระบบที่ชัดเจน คือศิลปินกับแกลเลอรี่จะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งต่างจากเมืองไทย ที่นี่หากว่ามีการติดต่อศิลปินเข้ามาทางไหน เขาจะไปหมดแทบทุกที่ ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา แต่จะดีกว่าหากศิลปินหาแกลเลอรี่ที่มีวิธีคิดแบบเดียวกัน แกเลอรี่สามารถดูแลตัวศิลปินได้ แล้วก็ค่อยๆเติบโตไปข้างหน้าด้วยกัน นั่นคือระบบที่เขาทำกันทางฝั่งตะวันตก อย่างตอนนี้ผมก็พยายามสร้างระบบที่ว่าอยู่ ก็มีศิลปินที่แสดงงานกับแกเลอรี่ผมไปประสบความสำเร็จที่นิวยอร์ก ผมก็บอกว่า ดูสิแต่ก่อนเรายังไม่เป็นที่รู้จักของใครเลย แล้วดูเดี๋ยวนี้สิ ผมว่านั่นเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น ”
แต่เนื่องจากบ้านเราไม่เคยมีระบบแบบนี้มาก่อนจึงใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจภาพรวมของการบริหารและจัดการงานศิลปะภายใต้ระบบใหม่อย่างถ้วนทั่ว
“ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่มีการเก็บเงินจากศิลปินที่มาแสดงงานกับผม ฉะนั้นงานไหนขายงานไม่ได้ ก็หมายถึง ทั้งผมและตัวศิลปินเองไม่ได้เงิน แต่ในความจริง การจัดแสดงงานศิลปะครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เรื่องการขนส่งงาน การเปิดตัวงานแสดง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่เจ้าของแกเลอรี่ทั้งหมด ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น