วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กล้วยไม้ของไทย


กล้วยไม้ในประเทศไทย

 

ชาวไทยชื่นชมในความงามของกล้วยไม้ตามธรรมชาติมาตั้งแต่อดีต พบได้จากถ้อยคำพรรณนาในบทกวี นอกจากนี้คนในอดีตยังมีความเชื่อและตำนานเกี่ยวกับกล้วยไม้ คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกล้วยไม้ไว้จะทำให้เกิดความประทับใจแก่บุคคลทั่วไป ช่วยให้ผู้ปลูกมีจิตใจเยือกเย็น ประณีต และยกย่องให้แคทลียา (Catteya) เป็นราชินีกล้วยไม้ที่ช่วยส่งเสริมเกียรติยศ และความสูงส่ง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูก เช่น การปลูกกล้วยไม้ควรปลูกในวันพุธและปลูกทางทิศตะวันออกเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน โดยให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นผู้ปลูกให้
ตามตำนานล้านนาทางเหนือของประเทศไทยเล่าว่าเจ้าผู้ครองนครที่เป็นเมืองขึ้นจะนำกล้วยไม้พันธุ์เดนโดรเบียม สกาบริลิง (Dendrobium scabrilingue) หรือเอื้องแซะหลวงมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการแด่เจ้าผู้ครองนครเพื่อแสดงความ จงรักภักดีอีกทั้งยังเชื่อกันว่าปล้องของกล้วยไม้เอื้องแซะหลวงที่มีเส้นใย สีดำอยู่เป็นวิญญาณของหญิงสาวที่ผิดหวังในรักมาสิงสถิตอยู่ ดอกไม้ชนิดนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความรักและการรอคอย
ในรัชสมัยแห่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการนำคำว่า “กล้วยไม้” มาใช้ในการตั้งพระนามพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เกิดกับเจ้าจอมมารดาสวน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2334 กรมหมื่นสุนทรธิบดี หรือพระองค์ชายกล้วยไม้จึงเป็นต้นสกุล “กล้วยไม้ ณ อยุธยา” ที่ สืบทอดต่อมายังลูกหลาน ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ความสนใจปลูกกล้วยไม้ก็เริ่มต้นเป็นงานอดิเรกของผู้ร่ำรวยบางคนในประเทศไทย
ในช่วงแรกการปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทยเป็นการเลียนแบบการปลูกกล้วยไม้จากธรรมชาติที่ขึ้นอยู่จากภูเขาสูง บนต้นไม้และพื้นดิน โดยนำกล้วยไม้ตามธรรมชาติมาปลูกใกล้บริเวณบ้าน ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับตะวันตกมากขึ้นจึงมีการสร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายและนำกล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกามาทดลองปลูก เช่นเดียวกับยุโรปชนชั้นสูงเป็นคนกลุ่มแรกที่นิยมการปลูกกล้วยไม้และนำเข้ากล้วยไม้เป็นงานอดิเรก และถึงแม้กล้วยไม้ป่าของไทยจะมีความสวยงามแต่ก็ได้รับความนิยมแต่เฉพาะกล้วยไม้ป่าหายากราคาแพง และกล้วยไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่ดูแปลกตาสำหรับสังคมไทย
การปลูกกล้วยไม้อย่างจริงจังเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดพิมพ์ตำราเล่นกล้วยไม้ฉบับแรกในปี พ.ศ. 2460 เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเป็นตำราความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ฉบับแรกของไทย ผู้ที่สนใจกล้วยไม้จะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ผู้สนใจพฤกษศาสตร์ ผู้ค้าขายกล้วยไม้ และผู้ที่ปลูกกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกตลอดจนผสมพันธุ์กล้วยไม้เพื่อปรับปรุงพันธุ์ หลังปี พ.ศ. 2475 สภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างย่ำแย่จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้การเพาะปลูกกล้วยไม้มีไม่มากนัก แต่เริ่มมีการสนใจปลูกกล้วยไม้พันธุ์ผสมและนำเข้ากล้วยไม้จาก ยุโรป สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จากนั้นจึงพัฒนาเป็นการเพาะปลูกเพื่อการค้าและการส่งออกจนกระทั่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกในระดับนานาชาติ พ.ศ. 2493 เริ่มมีการเพาะปลูกกล้วยไม้อย่างจริงจัง นักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมข้อมูลและทำการวิจัยเกี่ยวกับกล้วยไม้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2497 จึงได้มีการอบรมการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ให้กับผู้ที่สนใจปลูกกล้วยไม้
เมื่อ พ.ศ. 2498 ชมรมกล้วยไม้ก็ได้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยและสถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้ในปี พ.ศ. 2500 มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและการพัฒนากล้วยไม้ทางสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ทำให้การเพาะปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทยพัฒนาไปทั่วทั้งประเทศ มีการตั้งสมาคมและสโมสรกล้วยไม้ในจังหวัดต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนวิชากล้วยไม้ ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อ พัฒนาการวิจัยและส่งเสริมให้มีนักวิชาการทางกล้วยไม้ในประเทศ อีกทั้งมีการนำเข้ากล้วยไม้จากต่างประเทศที่เป็นกล้วยไม้พันธุ์ผสมและพันธุ์ แท้มาเพาะปลูกขยายพันธุ์มากขึ้น เช่น กล้วยไม้ที่นำเข้าจากฮาวายและสิงคโปร์
ในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาล และผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยวางแผนประสานงานจัดจำหน่ายกล้วยไม้ในระดับนานาชาติ และในปี พ.ศ. 2509 จึงเริ่มมีการทำสวนกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อส่งออกกล้วยไม้ไปยังเยอรมัน เนเธอแลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2523 เมื่อประเทศในทวีปยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันและการนำเข้าที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ไทยจึงเปลี่ยนตลาดกล้วยไม้มารองรับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นชาวญี่ปุ่นส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้มาประมาณ 1 – 2 ปี และเริ่มขายกล้วยไม้ในเวลาต่อมา ประเทศไทยเริ่มต้นขนส่งดอกกล้วยไม้ทางอากาศ และเปิดตลาดอุตสาหกรรมการค้ากล้วยไม้ตัดดอกในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีกล้วยไม้ที่ขายในประเทศไทยและสิงคโปร์มากขึ้น ปัจจุบันกิ่งกล้วยไม้ได้ส่งจากเอเชียไปยังร้านดอกไม้ทั่วโลก หลาย ประเทศกำลังมองหารายได้จากทรัพยากรที่เป็นการค้าไม้ดอก และอุตสาหกรรมกล้วยไม้ก็ทำรายได้หลายล้านดอลลาร์ที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น