วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดอกไม้มงคล

ไม้มงคลทั้ง 9 ชนิด l เสริมดวง เสริมบารมี เสริมโชค
ไม้มงคลทั้ง 9 ชนิด l เสริมดวง เสริมบารมี เสริมโชค

ความหมายแห่งไม้มงคล
ไม้มงคลที่นอกจากจะเป็นคติไทยที่มีชื่อ คุณสมบัติของต้นไม้ที่เป็นมงคลมักหามาปลูกกันแล้ว ในสมัยที่ต้นไม้ยังมีอยู่มาก หลายชนิดได้ถูกนำมาใช้สร้างบ้าน เช่น สัก มะค่า พะยูง และแม้ในยุคปัจจุบันที่ไม้หาได้ยากขึ้น แต่ในการก่อสร้างบ้านเรือนนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ยังได้ใช้เศษส่วนไม้มงคลทั้ง 9 มาประกอบพิธี ไม่ว่าจะปลูกบ้านไม้หรือบ้านตึก หากมีพิธีวางศิลาฤกษ์ พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะกำชับให้หาไม้ทั้ง 9 ชนิด เพื่อนำมาทำพิธีปักกับพื้นดิน เพื่อให้ความเป็นมงคลนามนั้นปกป้องผู้พักอาศัยให้มีความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง ซึ่งไม้แต่ละชนิดจะมีความหมายเฉพาะของตนเอง
ไม้สัก
หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง ไม้ต้น เป็นไม้ขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบ หรือแตกเป็นร่องเล็กๆ สีเทา เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน จึงมักนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ชักเงาได้ง่าย ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพราะเนื้อไม้มีสารเตคโตคริโนน
ราชพฤกษ์
หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา ไม้สูง 8-15 เมตร ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ทางภาคอีสานจะเรียกว่าต้นคูน ดอกสีเหลือง คุณประโยชน์ รากฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ
ชัยพฤกษ์
หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ ไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5-15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด ดอกเริ่มบานสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อนๆ ปลูกประดับก็ได้ เพราะมีดอกสวยงาม
ไม้ขนุน
หมายถึง หนุนให้ดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย เป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลขนาดใหญ่ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย ผลอ่อนใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหารได้ เนื้อไม้ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้างและเครื่องใช้ รากและแก่นให้สีเหลืองถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้
ทองหลาง
หมายถึง การมีทรัพย์สิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน ไม้ผลัดใบ สูง 5-10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง นิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น ใบอ่อนรับประทานได้ เป็นใบห่อเมี่ยงคำได้เหมือนใบชะพลู และปัจจุบันมีการตอนและปลูกลงกระถางเป็นไม้ประดับ เพราะเมื่อออกดอกมีสีแดงสวย
ไผ่สีสุก
หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10-18 เมตร เนื้อแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5-6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้างๆ หรือตัดตรง เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกหรือหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบๆ บ้านในชนบทเพื่อเป็นรั้วกันขโมย
ทรงบาดาล
หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง ไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4-6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2.5-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอกสีเหลืองออกตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นไม้เอเชียเขตร้อนและจาเมกา มักปลูกเป็นไม้ประดับ
พะยูง
หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้นทั่วๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เนื้อไม้สีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด
กันเกรา
หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น